วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ลิ้นหัวใจรั่ว

ลิ้นหัวใจรั่ว
ลิ้นหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจที่ทำหน้าที่คล้ายประต ูกั้นไม่ให้เลือดที่อยู่ในแต่ละห้องหัวใจ่ไหลย้อนกลับขณะที่ห้องหัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจจึงทำหน้าที่คล้ายประตู ปิด-เปิด ระหว่างห้องหัวใจตลอดเวลาตั้งแต่เกิด หัวใจคนเรามีลิ้นหัวใจอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ ไตรคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่าหัวใจห้องขวาบนและล่าง พูลโมนารี่ (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปปอด ไมตรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง เอออร์ติค (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย
ลักษณะของลิ้นหัวใจประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเป็นแผ่น บางหรือหนา และจำนวนแผ่นเนื้อเยื่อจะขึ้นกับตำแหน่งของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจไมทรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่มีความสำคัญมากลิ้นหนึ่งประกอบไปด้วยแผ่น (leaflet) 2 แผ่น เป็นรูปคล้ายอานม้า หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนของลิ้นเอออร์ติค เป็นจะแผ่นรูปเสี้ยงวงกลมบางๆ จำนวน 3 แผ่น เป็นต้น แผ่นเหล่านี้ดูเหมือนอ่อนแอ ขาดง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วมีความแข็งแรงมาก
ลิ้นหัวใจรั่ว
หัวใจห้องบน (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัวหลังจากลิ้นหัวใจเปิดออก เลือดจะไหลจากหัวใจห้องบนมายังห้องล่าง เมื่อเลือดไหลหมด แล้วหัวใจห้องล่าง (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัว แรงดันที่เกิดขึ้นจะดันให้ลิ้นหัวใจเคลื่อนมาชนกัน อยู่ในตำแหน่งที่ปิดสนิท ไม่มีเลือด ไหลย้อนกลับไปหัวใจห้องบนอีก ปรากฏการณ์นี้ก็เกิดเช่นเดียวกันกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจาก สาเหตุใดๆก็ตาม ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก เราเรียกว่า "ลิ้นหัวใจตีบ" ซึ่งไม่ใช่ "หัวใจตีบ" หรือ "หลอดเลือดตีบ" และเมื่อถึงคราวต้องปิด แต่ปิดไม่สนิท มีรู หรือ ช่อง ให้เลือดไหลย้อนกลับได้ เราเรียกว่า "ลิ้นหัวใจรั่ว" ในหลายๆครั้งที่ลิ้นหัวใจอยู่ในสภาพที่แข็ง ปิดก็ปิดไม่สนิท เปิดก็ไม่ได้เต็มที่ นั่นคือ ทั้งตีบและรั่วในลิ้นเดียวกัน
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว
1 มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด โดยอาจไม่มีอาการใดๆในวัยเด็กก็ได้2 ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้น ลิ้นหัวใจ จะหนาตัวขึ้นและเริ่มมีหินปูน (calcium) เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ ทำให้ปิดไม่สนิท3 โรคหัวใจรูห์มาติค ซึ่งเริ่มต้นจากการติดเชื้อ Streptococus ในคอ ซึ่งพบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบและรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหา สาธารณสุขของประเทศอยู่ พบบ่อยๆ ในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรือ อยู่ในชุมชนแออัด4 เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยา เสพติด) การเจาะตามร่างกาย(เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ) เป็นต้น
ตรวจอย่างไร
การตรวจร่างกายจะให้การวินิจฉัยโรคได้ดี โดยจะได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ เรียกว่า "เสียงฟู่" หรือ murmur ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจาก ลิ้นหัวใจตีบก็ได้ รั่วก็ได้ แล้วแต่ตำแหน่งของลิ้นหัวใจ อย่างไรก็ตามเสียงฟู่ไม่ได้พบเฉพาะในโรคลิ้นหัวใจเท่านั้น ยังพบในหลายกรณี เช่น คนปกติบางราย คนตั้งครรภ์ ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว ฯลฯ
การตรวจพิเศษที่ช่วยในการวินิจฉัยลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งสามารถบอกความรุนแรงและลักษณะของลิ้นหัวใจได้ดีที่สุด คือ การตรวจ ด้วยคลื่นสะท้อน หรืออัลตราซาวน์ เราเรียกการตรวจชนิดนี้ว่า
เอคโค่ (echocardiogram) ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ และ ความชำนาญของแพทย์ในการทำ และแปลผลด้วย บ่อยครั้งที่การใช้เครื่องมือ hi-tech นี้ก็มีผลเสีย เนื่องจากเครื่องมือมี "ความไว" เกินไป สามารถตรวจจับการ "รั่ว" เพียงเล็กน้อยได้ ซึ่งการรั่วเล็กน้อยเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญเลย แต่เมื่อแพทย์บอกผู้ป่วยไป ก็ทำให้เกิดความกังวลแก่ผู้ป่วยและญาติ (แต่ไม่บอกก็ไม่ได้เช่นกัน)
การตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก แม้จะไม่สามารถวินิจฉัยลิ้นหัวใจได้โดยตรง แต่ก็สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการบอกความรุนแรง ของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในสมัยก่อนเอกซ์เรย์ทรวงอกมีความสำคัญอย่างมาก และต้องถ่ายหลายๆท่าประกอบกัน แต่ในปัจจุบัน จำเป็นที่ต้องถ่ายหลายท่าลดลง เพราะ "เอคโค่" ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลิ้นหัวใจโดยตรง
อาการเป็นอย่างไร
ลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการใดๆ หรือแม้แต่รั่วมากในหลายๆรายก็ไม่แสดงอาการ อาการต่างๆ จะปรากฏเมื่อหัวใจ ไม่สามารถทนรับกับ ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นได้ต่อไปอีก อาการที่เกิดจึงเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เช่น หอบเหนื่อย ขาบวม ใจเต้นเร็ว เป็นต้น ดังนั้นการตรวจร่างกาย หรือ ตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้นจึงสามารถบอกได้
รักษาอย่างไร
แม้ว่าลิ้นหัวใจทำหน้าที่คล้ายประตู แต่หากเปิด-ปิดไม่สะดวกก็ไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดน้ำมันเหมือนประตูได้ ต้องเปลี่ยน อย่างเดียว หมายความว่า ต้องแก้ไขที่ตัวลิ้นหัวใจ จะด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็ตาม แพทย์จะทำการผ่าตัด เฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจเสีย มากเท่านั้น ดังนั้น หากลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง แพทย์จะแนะนำให้ติดตามดูอาการ ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งหลายๆราย เสียชีวิตด้วยโรคอื่นก่อนที่จะเสียชีวิตจากหัวใจ
ขอแนะนำ Link เกี่ยวกับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ บทความจากมติชน
หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ส่วนถ้ารั่วมาก มักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็ถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย หัวใจท่านอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นท่านต้องทะนุถนอมหัวใจท่านให้มากๆ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วย อาหารเค็ม บุหรี่ อาหาร ไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง
สิ่งสำคัญประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือ ทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน
หากท่านมีปัญหาสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ หรือ มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย (เพราะคิดว่าแข็งแรง ไม่มีอาการ) อยากแนะนำให้ ท่านปรึกษาอายุรแพทย์ หรือ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ใกล้บ้านท่าน ซึ่งปัจจุบันนี้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (โรคหัวใจขาดเลือด)

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (โรคหัวใจขาดเลือด)
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย โดยเฉพาะในขณะนี้พบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นสาเหตุ ที่ทำให้ มีจำนวนคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากการประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่าน ผู้อ่านควรมีความรู้ความเข้าใจ ถึงอาการ ที่สำคัญของโรคนี้
หัวใจคนเราเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่ง หัวใจมีการเต้น การบีบตัวตั้งแต่แรกเกิดจนวินาทีสุดท้ายที่เราหมดลมหายใจ ดังนั้นหัวใจจึง ต้องมีหลอดเลือดซึ่งทำหน้าที่นำเลือดจากหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย สารอาหาร พลังงาน และ ออกซิเจนไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้ กล้าม เนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้ามี ปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ไม่ว่า จะเป็นการตีบหรือการอุดตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกหล่อเลี้ยง โดยหลอดเลือดนั้นขาดเลือดหรือตายไป ทำให้กล้ามเนื้อ หัวใจบีบ ตัวได้ไม่ดี ผลที่ตามมาคือหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะต่างๆได้เพียงพอ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
เหตุใดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจจึงมีการตีบตัน
ถ้าจะเปรียบไปแล้ว หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจก็เปรียบเหมือนกับท่อส่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปนานๆก็ย่อม เกิดการอุดตันขึ้น จากเศษตะกอนต่างๆ หลอดเลือดแดงของหัวใจก็เช่นเดียวกัน การตีบของหลอดเลือดแดงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดเมื่อ คนเราอายุมากขึ้น โดยธรรมชาติ ผนังหลอดเลือดก็จะมีการหนาตัวขึ้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงเป็นโรคของผู้ใหญ่วัยกลางคน และวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ในคนบางคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ เมื่ออายุยังไม่มาก เนื่องจากมีปัจจัยบางประการที่ส่งเสริมให้ผนังหลอดเลือด มีการตีบและหนาตัวเร็วขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบตันและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตายจะมีอาการอย่างใด
อาการที่สำคัญที่สุดคืออาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับหรือบีบรัด อาการเตือนในระยะแรกๆคือ มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอกขณะที่ออก แรงมากๆ เช่น เล่นกีฬา เดินขึ้นที่สูงๆ หรือเวลาออกไปเดินหลังจากทานอาหารอิ่ม เมื่อหลอดเลือด มีการตีบมากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกก็จะเป็นได้ง่ายขึ้น เช่น เดินเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ขึ้นบันไดเพียง 1-2 ชั้น อาบน้ำเย็นๆ และสุดท้าย อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไรก็เจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้าม เนื้อหัวใจ ขาดเลือดจะเป็นอยู่นานเพียง 5-10 นาที เวลาพัก หรือ อมยาขยายหลอดเลือดแล้วจะดีขึ้น แต่อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะเจ็บรุนแรงกว่า นานกว่า อมยาขยาย หลอดเลือดก็ไม่ดีขึ้น และอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เหงื่อแตกอย่างมากร่วมด้วย
นอกจากอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันแล้ว ผู้ป่วยอาจมาด้วยเรื่องเหนื่อยง่าย เหนื่อยผิดปกติ ดังนั้น จึงใคร่ขอแนะนำ ให้ท่านผู้อ่านที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นไปขอรับการปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งแน่นอนที่สุดถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขณะ ที่อาการต่างๆยังไม่รุนแรงมาก โอกาส ในการรักษาให้ดีขึ้นก็สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงมากๆ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะทำได้อย่างไร
การรักษาอาจแบ่งง่ายๆเป็นการใช้ยา การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (เรียกว่าผ่าตัด "บายพาส") และ
ใช้ลูกโป่งเพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบ ทั้งนี้และทั้งนั้นการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจะเหมาะสมกับผู้ป่วยรายใด ก็คงต้องอยู่ใน ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และ ความต้องการของผู้ป่วยด้วย
สุดท้ายนี้คงต้องควบคุมปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้หลอดเลือดตีบได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น การงดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร การลดไขมันในเลือด และการควบคุมเบาหวานให้ดีด้วย